โรค ALS คืออะไร ??

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS)

โรค ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเซลล์ประสาท ในสมองและไขสันหลัง ซึ่งเป็นระบบเซลล์ ที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อต่างๆ หากเซลล์นี้ตายหรือเสื่อมสภาพ ก็จะส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง กล้ามเนื้อกระตุก และกล้ามเนื้อลีบ อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับการพูด การเคี้ยว การกลืนอาหาร การเคลื่อนไหวร่างกาย และการหายใจ ในการเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาทเหล่านี้มักจะค่อยๆเกิดขึ้นอย่างช้าๆแบบไม่รู้ตัว ซึ่งผู้ป่วยไม่สังเกตุตัวเอง มักจะรู้ตัวก็เมื่อเกิดผลกระทบที่ชัดเจนแล้ว เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ขยับแขนขาไม่ได้ ขาแขนลีบ พูดไม่ได้ สาเหตุอาจเกิดจากเซลล์ประสาทเสื่อมสภาพหรือถูกทำลาย และหากอาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจถึงกับเสียชีวิตได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้

โรค ALS มีชื่อเรียกอย่างอื่นด้วย เช่น โรค MND (Motor Neuron Disease) หรือโรคเซลล์ประสาทนําคําสั่งเสื่อม และอีกชื่อหนึ่งคือโรคลู-เก-ริก (Lou Gehrig Disease)

โรค ALS เกิดจากอะไร / สาเหตุของโรค ALS

สาเหตุของการเกิดโรค ALS คือการเสื่อมสภาพหรือตายของเซลล์ประสาทนั่นเอง โดยสาเหตุที่แน่ชัด ในทางการแพทย์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ว่าการเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควรของเซลล์เหล่านี้ เกิดมาจากสาเหตุอันใด ซึ่งในปัจจุบันทั้งแพทย์และนักวิจัยทั่วโลก กำลังวิจัยสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้กันอยู่ แต่ก็มีข้อสันนิษฐาน กันว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
– ปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้เซลล์ประสาทเสื่อมสภาพ
– ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหรือโปรตีนบางชนิดที่อาจทำให้เซลล์ประสาทตาย
– กลุ่มเสี่ยง ที่มีปัจจัย หลากหลาย ที่อาจนำไปสู่โรคนี้ได้ เช่น ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรค ALS มีอายุระหว่าง 40-60โดยเฉพาะ เพศชาย มีการสัมผัสกับโลหะหรือสารเคมีบางชนิด มีอาการบาดเจ็บหรือติดเชื้อจากบาดแผลอย่างรุนแรง การสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์
– หรือความไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกาย อย่างการมีระดับกลูตาเมตสูงเกินไป

ซึ่งทั้งนี้ อาจแบ่งกลุ่ม ALS ออกเป็น 2 ประเภทตามปัจจัยเสี่ยง ได้ดังนี้

  1. Familial ALS หรือ ALS ที่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม พบเพียงร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยทั้งหมด
  2. Sporadic ALS หรือ ALS ที่เกิดขึ้นเองโดยไม่พบปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน พบมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยทั้งหมด

อาการของโรค กล้ามเนื้ออ่อนแรง ( ALS )

อาการของโรค ALS ที่พบคือ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยสามารถเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อได้ทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งพบว่าอาการที่เกิดจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทั่วไป อาการมักเริ่มที่มือ เท้า แขน หรือขา แล้วจะค่อย ๆ กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น อาการเริ่มจากกล้ามเนื้อแขน ทำให้แขนไม่มีแรง กำมือไม่ได้ เคลื่อนไหวลำบาก แขนเริ่มลีบลง จากนั้นลามไปยังแขนอีกข้างหนึ่ง ก่อนจะลามไปถึงกล้ามเนื้อหัวไหล่ คอ ปาก ลิ้น (ทำให้พูดไม่ได้) กะบังลม (ทำให้หายใจเองลำบาก) และขา จนไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ โดยบางรายมีอาการหนักจนไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้ ต้องให้อาหารทางสายยาง สุดท้ายมักเสียชีวิตในระยะเวลาประมาณ 3-5 ปี เนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว อย่างไรก็ตาม บางรายอาจอยู่ได้นานกว่า 10 ปี ทั้งขึ้นอยู่กับการดูแลร่างกายของแต่ละคนด้วย

การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ( ALS )

เบื้องต้น แพทย์อาจวินิจฉัย โดยดูจากอาการของผู้ป่วย ซึ่งตัวผู้ป่วยเองอาจจดบันทึกอาการในแต่ละวันเพื่อ ช่วยให้แพทย์ได้วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ แพทย์อาจประเมินจากประวัติโรค ALS ของบุคคลคนในครอบครัว ประกอบด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ปัจจุบันยังไม่มี วิธีการวินิจฉัยโรค ALS ที่ชัดเจน แพทย์ส่วนใหญ่จึงมักใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อตรวจหาโรคอื่น ๆ ที่มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกันด้วย โดยใช้วิธีการ

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เพื่อใช้ประเมินกิจกรรมทางไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ เพื่อใช้วินิจฉัยโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและระบบประสาท
  • การชักนำประสาท เป็นการตรวจโดยวิธีการกระตุ้นระบบเส้นประสาท เพื่อวัด การตอบสนองของระบบประสาทโดยดูจาก ความเร็วและความแรงของสัญญาณระบบประสาท
  • การตรวจภาพถ่ายจาก MRI Scan เป็นการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โดยแพทย์อาจใช้วิธีนี้เพื่อตรวจหาโรคหรือภาวะอื่นใดที่ทำให้ เกิดอาการคล้ายกับโรค ALS ด้วย เช่น เนื้องอกในไขสันหลัง และโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท เป็นต้น
  • การตรวจเลือดและปัสสาวะ แพทย์อาจตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของอาการให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโรค ALS ในระยะแรกอาจมีอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆด้วย
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง เป็นการเจาเพื่อเอาน้ำที่หล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมาตรวจ เพื่อวินิจฉัยโรคที่เกิดขึ้นกับสมองและระบบประสาทส่วนกลาง
  • การตัดชิ้นเนื้อตัวอย่าง เป็นการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของกล้ามเนื้อ มาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการอย่างละเอียด เพื่อวินิจฉัยโรคและยังใช้ตรวจหาสาเหตุของโรคกล้ามเนื้ออื่น ๆ ได้อีกด้วย

วิธีการรักษาโรค ALS

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรค ALS ให้หายขาดได้ มีเพียงแต่การรักษาตามอาการแบบประคับประคองเท่านั้น เพื่อชะลอการดำเนินโรค บรรเทาอาการต่าง ๆ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 50 มักเสียชีวิตภายหลังจากโรคนี้แสดงอาการภายในเวลา 2 ปี แต่ผู้ป่วยส่วนมากจะยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวถ้าได้รับการวินิจฉัยโรคแต่เนิ่นๆ และรักษาตามอาการ รวมถึงการได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง รวมถึงกำลังใจของผู้ป่วยเองด้วย

วิธีการทั่วไปที่แพทย์ใช้ มีดังนี้

การรักษาด้วยยา
ยาที่แพทย์มักใช้รักษาผู้ป่วยโรค ALS คือ ยาไรลูโซล (Riluzole) เป็นตัวยาที่อาจช่วยชะลอการดำเนินโรค โดยออกฤทธิ์ต้านสารกลูตาเมต ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น เวียนศีรษะ หรือส่งผลให้เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารและการทำงานของตับ เป็นต้น ยาอีดาราโวน (Edaravone) เป็นยาช่วยลดการเสื่อมของเซลล์ระบบประสาท นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาเพื่อบรรเทาอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ยารักษาอาการหลั่งน้ำลายมากเกินไป และยารักษาภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

การบำบัดและบรรเทาอาการ

  • การทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายด้วยวิธีที่ ไม่ต้องใช้แรงมาก เพื่อช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับความเมื่อยล้าและภาวะซึมเศร้าได้ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ การปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น
  • อรรถบำบัด เป็นการฟื้นฟูความผิดปกติทางการพูด การออกเสียง และการกลืนอาหาร
  • กิจกรรมบำบัด เป็นการบำบัดเพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างอิสระ ในการใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยในกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งกาย การอาบน้ำ รวมถึงควรจัดวางสิ่งของในที่อยู่อาศัยเพื่อให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวตัวเองได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
  • โภชนบำบัด เป็นการดูแลเรื่องอาหารการกินของผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับ พลังงานและสารอาหารที่เหมาะสม โดยให้หลีกเลี่ยงอาหารที่กลืนยาก เพื่อป้องกันการสำลักอาหาร และในบางกรณีอาจต้องใส่ท่อให้อาหารเข้าไปในกระเพาะอาหารด้วย
  • การช่วยเหลือด้านจิตวิทยาและสังคม ผู้ป่วยอาจต้องได้รับความช่วยเหลือจาก นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ได้รับการดูแลด้านสภาพจิตใจและอารมณ์ของทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัว
  • การใช้เครื่องช่วยหายใจ หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจจนอาจ ทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่สะดวก แพทย์อาจต้องให้ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ( ALS )

ผู้ป่วย อาจมีปัญหาในการพูด ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ จนอาจต้องอาศัยเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อช่วยในการสื่อสาร รวมทั้งการเคี้ยวและการกลืนอาหาร ที่ยากลำบากก็อาจทำให้ผู้ป่วยสำลักอาหาร และอาจทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการได้
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการสมองเสื่อมจากการ ที่ได้รับผลกระทบด้านความคิด ความทรงจำ และการตัดสินใจ จนทำให้มีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป หรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ยิ่งไปกว่านั้น โรค ALS อาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก และยังอาจทำให้ปอดบวมหรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดของการเสียชีวิต สำหรับผู้ป่วยโรค ALS นี้ด้วย

วิธีป้องกันโรค ALS

เนื่องจากทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค ALS นี้ ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้ที่แน่นอน แต่ก็มีคำแนะนำที่ให้หลีกเลี่ยงการรับหรือสัมผัสกับยาฆ่าแมลง โลหะหนักและรังสีที่รุนแรง ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุ หรือเป็นตัวกระตุ้น ให้ระบบเซลล์ประสาทเสื่อมสภาพและตายลง โดยให้หมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง รับประทานอาหารที่สะอาดและมีประโยชน์ต่อร่างกาย หมั่นสังเกตุอาการผิดปกติของตนเองหรือของบุคคลคนในครอบครัว ซึ่งถ้าพบอาการผิดปกติ หรืออาการที่บ่งชี้ว่าอาจจะเป็นโรค ALS ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยทันที

โรค ALS ในประเทศไทย

ซึ่งข้อมูลเบื้องต้น พบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรค ALS ราวๆ 3,000 คน และราว 140,000 คนทั่วโลก ( ในอัตรา พบผู้ป่วย 2 คนต่อประชากร 100,000 คน ) ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนผู้ป่วยที่ยังไม่มากนัก แต่ก็นับได้ว่าเป็นโรคที่น่ากลัวมาก เนื่องจากยังไม่มีวิธีรักษาและก็ไยัง ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัดนั่นเอง